จากสถานการณ์..สู่การแก้ปัญหาใน “กิจกรรมสะเต็ม”

การวิเคราะห์ปัญหาและรวบรวมข้อมูล แนวคิดที่เกี่ยวข้อง

 

               จาก  “ข้อความบรรยายสถานการณ์”  ซึ่งมีความยาว 4 – 5 บรรทัด  เมื่อนำมาสรุปให้กระชับ  จนได้เป็นข้อความสั้นๆ ที่เรียกว่า “ปัญหา” ได้แล้ว  ครูจะต้องทำให้นักเรียน “เข้าใจปัญหา”  ให้ได้ 

              การเข้าใจปัญหา คือ การสามารถแยกแยะได้ว่าในปัญหานั้น รายละเอียดเป็นส่วนย่อยที่เกี่ยวข้องมีอะไรบ้าง  และส่วนย่อยเหล่านั้น สัมพันธ์กันอย่างไร  ซึ่งนักวิชาการเรียกการแยกแยะนี้ว่า “วิเคราะห์ปัญหา”  ซึ่งใช้หลัก 4W + 1H +1C  ( Who What Where When & How & Context ) ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร และบริบทที่เกี่ยวข้องมีอะไรบ้าง 

              ภายหลังจากการวิเคราะห์จนถี่ถ้วนแล้ว ครูต้องให้นักเรียนช่วยกันระดมความคิดและอภิปรายว่า
                    
1) “เป้าหมายที่เป็นรูปธรรม” ของการแก้ปัญหา คืออะไร 
                   
2)  คุณลักษณะของเป้าหมายที่เป็น “ความต้องการของผู้รับประโยชน์” จากการแก้ปัญหามีอะไรบ้าง  
                   
3) “หลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขหรือข้อจำกัดที่เป็นบริบทของปัญหา” มีอะไรบ้าง 

             ทั้งสามประการดังกล่าวข้างต้น เป็นสิ่งจำเป็นของ “กิจกรรมสะเต็ม” เนื่องเพราะ เป็นลักษณะเฉพาะของ “วิธีการทางวิศวกรรม (Engineering process)  

               เมื่อวิเคราะห์ปัญหา  กำหนดเป้าหมาย  ความต้องการ และ ระบุหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขหรือข้อจำกัดที่เป็นบริบทของปัญหา แล้ว  ครูให้นักเรียนระดมความคิดว่าการจะดำเนินการแก้ปัญหานั้น  นักเรียนควรมีข้อมูล หรือ ความรู้เพิ่มเติม ที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง และที่ผ่านมา ในสถานการณ์ของปัญหาคล้ายๆกัน หรือเป็นปัญหาเดียวกันแต่ต่างบริบทนั้น มีการแก้ปัญหาอย่างไร ปัญหา/อุปสรรค หรือข้อเสนอแนะมีหรือไม่ อย่างไร จะค้นคว้าเพิ่มเติมจากที่ไหน ด้วยวิธีการอย่างไร  ซึ่งหากครูเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องมีผู้รู้ หรือ การศึกษาดูงานจากแหล่งเรียนรู้อื่นๆ ครูควรจัดให้นักเรียนมีโอกาสได้เรียนรู้ตามสมควร  นอกจากนี้ ครูควรแนะนำการจดบันทึกการค้นคว้าเพิ่มเติมของนักเรียนให้ทำอย่างเป็นระบบด้วยเพื่อใช้ในการประกอบการทำรายงาน  

                 ขั้นตอนทั้งหมดที่อธิบายมานี้ เรียกว่า “การรวบรวมข้อมูลและแนวคิดที่เกี่ยวข้อง”

 

ตอนต่อไป  …จะเป็นการออกแบบ และ วางแผนปฏิบัติ

 

  

Comment List

Write a comment