(ตอนที่ 2)
ภายหลังการวิเคราะห์นิยามของ “สะเต็มศึกษา” ผู้บริหารโรงเรียนและครูทุกคนต้องมีความเข้าใจตรงกันว่า
-การจัด “กิจกรรมสะเต็ม” เป็น…เป้าหมายสำคัญปลายทางของ “สะเต็มศึกษา”
– การจัด “กิจกรรมสะเต็ม” ไม่ได้มุ่งหมายที่จะให้นักเรียนได้ “เนื้อหาสาระ” แต่มุ่งเน้น การแก้ปัญหาในชีวิตจริงที่ต้องใช้พื้นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์
– การจัดการเรียนรู้ตามแนว “สะเต็มศึกษา” คือการฝึกให้นักเรียนมีทักษะในการแก้ปัญหา โดยปัญหานั้นเป็นปัญหาในชีวิตจริง นำพื้นฐานวิทยา ศาสตร์ คณิตศาสตร์ที่เรียนมาแล้ว รวมทั้งเทคโนโลยีปัจจุบันมาช่วยแก้ปัญหา ตามขั้นตอนของวิธีทางวิศวกรรม
จากนั้น ผู้บริหารโรงเรียนควรบริหารจัดการเกี่ยวกับ “สะเต็มศึกษาในสถานศึกษา” ใน 3 มิติ ดังนี้
1. มิติด้านการจัดการเรียนการสอนที่จัดอยู่เดิมตามหลักสูตร
1.1 ครูทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ต้องพัฒนาการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาที่รับผิดชอบ โดยจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนมีทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ตลอดทั้งทักษะในการค้นคว้าและรวบรวมข้อมูล
1.2 บรรยากาศการเรียนการสอนและบรรยากาศในโรงเรียนต้องไม่ขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคต่อการคิดริเริ่มหรือสร้างสรรค์ของนักเรียน
1.3 ครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ต้องเน้นการสอนแบบสืบเสาะความรู้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Inquiry-based learning) ปลูกฝังสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์ และ ยกตัวอย่าง “การนำวิทยาศาสตร์ ไปใช้ในการแก้ปัญหา”
1.4 ครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ต้องเน้นการสอนที่เชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับสถานการณ์ที่เป็นจริง สามารถแปลสถานการณ์ให้อยู่ในรูปความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร
1.5 ครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย หากจะใช้บทความในการอ้างอิงการสอน ควรเป็นบทความเกี่ยวกับการแก้ปัญหาที่นำวิทยาศาสตร์ไปใช้
1.6 ครูในกลุ่มสาระสังคมศึกษา พลานามัย หากจะยกตัวอย่างใดๆ ควรเป็นตัวอย่างที่เกี่ยวกับการนำวิทยาศาสตร์ไปใช้
1.7 ครูในกลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ ให้ชวนนักเรียนอ่านบทความภาษาต่างประทศที่เป็นการแก้ปัญหาที่นำวิทยาศาสตร์ไปใช้
1.8 กิจกรรมเสริมหลักสูตรที่จัดให้นักเรียน ให้สอดแทรกกิจกรรมที่มีลักษณะการเรียนแบบร่วมมือ(Collaborative learning) การทำงานเป็นทีม(Group working) และทักษะการแก้ปัญหา(Problem solving skill)
2. มิติด้านเนื้อหาสาระในรายวิชาวิทยาศาสตร์
ต้องสอนให้ครบตามมาตรฐานที่กำหนดในหลักสูตร และมีความทันสมัย และยกตัวอย่าง หรือ อ้างอิง การนำวิทยาศาสตร์ไปแก้ปัญหาต่างๆ
3. มิติด้านการจัด “กิจกรรมสะเต็ม”
ให้ครูทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ประชุมเชิงปฏิบัติการ ทำความเข้าใจ
3.1 ทักษะการแก้ปัญหา 9 ขั้น
3.2 กระบวนการทางวิศวกรรม
3.3 ขั้นตอนการจัดกิจกรรมสะเต็ม 6 ขั้นตอน ที่คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรสะเต็มศึกษาในสถานศึกษา ออกแบบไว้
หลังจากนั้น ประชุมเชิงปฏิบัติการทำ “กิจกรรมสะเต็ม” เพียง 4 ขั้นตอน
ขั้นที่ 1 – ระบุปัญหา
ขั้นที่ 2 –รวบรวมข้อมูลและแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับปัญหา
ขั้นที่ 3 –ออกแบบวิธีการแก้ปัญหา
ขั้นที่ 4 –วางแผน…….
เหตุผลที่ให้ประชุมเชิงปฏิบัติการเพียงแค่ วางแผนการปฏิบัติงาน เพราะต้องการให้ครูทราบเป็นแนวทางเพื่อจะนำไปแนะนำนักเรียน ส่วนการปฏิบัตินั้น ควรจะเป็นบทบาทของนักเรียนในการปฏิบัติจริง