(ตอนที่ 1)
ผู้เขียน…มีเพื่อนเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนหลายคน บางคนเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนระดับประถมศึกษา บางคนเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา เวลาพบปะกัน เพื่อนมักจะปรารภ(หรือ บ่น)ให้ฟังว่า “ได้รับนโยบายมาให้จัดสอนแบบสะเต็มในโรงเรียน แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร เคยไปฟังบรรยายด้วยตัวเองมาก็หลายครั้ง ให้ครูในโรงเรียนหลายคนไปอบรมสัมมนาก็แล้ว กลับมาก็พูดไม่ตรงกัน สรุปหาความชัดเจนไม่ได้ กลุ้มๆๆๆ”
ผู้เขียน ฟังเพื่อนบ่นหลายๆ ครั้ง ก็บอกว่า “คุณเป็นผู้บริหารโรงเรียน ต้องเข้าใจทั้งภาพกว้าง และลงลึกในรายละเอียดได้ มิฉะนั้นคุณจะไม่สามารถบริหารจัดการให้ประสบความสำเร็จได้” หลังจากนั้นผู้เขียนก็ร่ายยาวโดยเปิดโอกาสให้เพื่อนแทรกถามเป็นระยะๆ สรุปได้ว่า
การจะทำโรงเรียนให้เป็น “โรงเรียนสะเต็มศึกษา”ได้นั้น ต้องทำเป็นระบบโดยให้ครูทุกคนในโรงเรียนเข้าใจคำว่า “สะเต็มศึกษา”ให้ตรงกัน มีบทบาทในการทำงานเรื่องนี้ร่วมกันทุกคนไม่ว่าจะเป็นครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้ใดก็ตาม
การสร้างความเข้าใจในเรื่อง “สะเต็มศึกษา” ให้กับครูทุกคนในโรงเรียนควรทำ โดยจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ให้ครูได้ศึกษา
1) ความเป็นมาของ “สะเต็มศึกษา” ในประเทศไทย จากบทความที่เขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร.มนตรี จุฬาวัฒนทล (อดีตประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)
2) พัฒนาการของนิยามคำว่า“สะเต็มศึกษา” ที่เดิมกำหนดโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และต่อมาปรับตามที่คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรสะเต็มศึกษาในสถานศึกษา(ที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ)กำหนด
3) วิเคราะห์นิยามคำว่า“สะเต็มศึกษา” ซึ่งจะมี “คำสำคัญ(Keywords)” ที่ปรากฏในนิยาม เช่น
1) แนวทางการจัดการศึกษา
2) บูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม และคณิตศาสตร์
3) เชื่อมโยงและแก้ปัญหาในชีวิตจริง /การพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่
4) การพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
ผลการวิเคราะห์นิยาม จะเห็น “แนวทางจัดการศึกษาสะเต็มศึกษา” ซึ่งสรุปได้ว่า เป็นการจัดการศึกษา ที่มีเป้าหมายในการฝึกให้นักเรียน มีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ และมีทักษะการแก้ปัญหาในชีวิตจริง หรือพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ โดยใช้พื้นฐานความรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และวิธีการทางวิศวกรรม
ประการสำคัญ ต้องทำความเข้าใจว่า คำว่า “บูรณาการ”ในนิยามนั้น
– ไม่ได้มีความจำกัดเพียง เป็น การสอนแบบทีม(Team teaching)ที่ครูวิทยาศาสตร์ต่างสาขาวิชาและครูคณิตศาสตร์มาร่วมกันสอนนักเรียน
และ – ไม่ได้มีความจำกัดเพียง การนำเนื้อหาสาระของวิทยาศาสตร์ต่างสาขาวิชาและคณิตศาสตร์มารวมกันแล้วสอนนักเรียน
แต่หมายความไปถึง ………..
– การนำเนื้อหาสาระของวิทยาศาสตร์ต่างสาขาวิชาและคณิตศาสตร์ที่นักเรียนได้เรียนไปแล้ว มาบูรณาการในการแก้ปัญหา
อนึ่ง คำว่าความคิดสร้างสรรค์ ทักษะในการคิดวิเคราะห์ และทักษะการแก้ปัญหา แม้จะไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในนิยามของ “สะเต็มศึกษา” แต่ก็เป็นคำในความหมายของทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
นอกจากนี้ คำว่า “กระบวนการทางวิศวกรรม” เป็นอีกคำที่จะต้องทำความชัดเจนว่า เป็นการสร้างชิ้นงานหรือผลผลิตหรือเป้าหมายที่ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี อย่างมีกระบวนการหรือขั้นตอน ซึ่งการสร้างชิ้นงานหรือผลผลิตจะอยู่บน “ความต้องการหรือคุณลักษณะ” ที่ผู้ใช้ประโยชน์ประสงค์ให้เป็น ภายใต้ “หลักเกณฑ์ ความจำเป็น หรือเงื่อนไขซึ่งเป็นบริบท”
(ตอนที่ 2)