- คำถาม ที่อยู่ในใจของครู :
คำถาม : “สะเต็มศึกษา” คือะไร ?
ตอบ : ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน “สะเต็มศึกษา” เป็นการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นให้นักเรียนตระหนักและเห็นคุณค่าของวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ในการนำมาแก้ปัญหาในชีวิตจริงหรือการพัฒนากระบวนการหรือสร้างนวัตกรรม
คำถาม : จะสอน “สะเต็ม” อย่างไร ?
ตอบ : ในส่วนของครู ต้องเข้าใจชัดเจนก่อนว่า บทบาทของครูเกี่ยวกับเรื่องนี้ “ไม่ใช่การสอนเนื้อหา แต่เป็นการจัดกิจกรรม” และ เป็นกิจกรรมแก้ปัญหาในชีวิตจริง ที่ใช้พื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ซึ่งได้เรียนรู้มาก่อนแล้ว ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวใช้เทคโนโลยีมาช่วย โดยผ่านการลงมือปฏิบัติ มีเป้าหมายสุดท้ายเป็นชิ้นงานหรือการพัฒนากระบวนการหรือนวัตกรรม
คำถาม : ทำไมต้องสอน “สะเต็ม” ?
ตอบ : ภาครัฐ และกระทรวงศึกษาธิการ เห็นว่า หากนักเรียนที่ผ่านการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีบุคลิกหรือคุณลักษณะของ STEM Workforce (ที่ทำงานหรือประกอบอาชีพโดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ) นักเรียนจะมีข้อมูลพื้นฐานที่ดีส่วนหนึ่งในการตัดสินใจศึกษาต่อหรือประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะในการแก้ปัญหา และคุณลักษณะทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
คำถาม : ไม่สอนทุกระดับชั้นได้หรือไม่ ?
ตอบ : นักเรียนควรซึมซับ ความตระหนักในความสำคัญ ตลอดจนเห็นคุณค่าของวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่ถูกนำมาแก้ปัญหาในชีวิตจริง อย่างเป็นระบบตั้งแต่เริ่มเรียนรู้
คำถาม : ฟังมาจากพื่อนครูโรงเรียนอื่นๆ ไม่ตรงกันสักราย ที่ถูกต้อง เป็นอย่างไร ?
ตอบ : มีการแสดงความคิดความเห็นเกี่ยวกับ “สะเต็มศึกษา” มากมาย นานาทรรศนะ และนานาทรรศนะเหล่านั้นถูกนำมาออกแบบเพื่อจัดการศึกษา “สะเต็มศึกษา”
สำหรับ “สะเต็มศึกษา” ในประเทศไทย ควรพิจารณาจากจุดเริ่มต้น และ นโยบายของรัฐโดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ศาสตราจารย์ ดร.มนตรี จุฬาวัฒนทล เมื่อครั้งเป็นประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) ได้เผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการศึกษา “สะเต็มศึกษา” และเสนอต่อรัฐบาล จนมีการขับเคลื่อนการศึกษา “สะเต็มศึกษา” ไปยังหน่วยงานทางการศึกษาต่างๆ มีการจัดตั้งศูนย์สะเต็มศึกษาภาค 13 ศูนย์ ในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีศักยภาพ และนำร่องการจัดการศึกษา “สะเต็มศึกษา” ในโรงเรียนทั้งระดับมัธยมศึกษา และ ประถมศึกษา
ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ) ได้รณรงค์การจัดการศึกษา “สะเต็มศึกษา” ในโรงเรียนอย่างจริงจัง ซึ่งในการพัฒนาหลักสูตรสะเต็มศึกษาได้นิยามของสะเต็มศึกษาว่า “สะเต็มศึกษา คือ แนวทางการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ไปใช้ในการเชื่อมโยงและแก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21”
จากนิยามของ สะเต็มศึกษา ดังกล่าว เมื่อนำมาวิเคราะห์แล้ว จะสรุปได้ว่า
1. สะเต็มศึกษา เป็นเรื่องของการฝึกทักษะการแก้ปัญหาหรือการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ให้กับนักเรียน
2. ปัญหานั้นต้องเป๋นปัญหาในชีวิตจริง
3. การแก้ปัญหานั้น ใช้พื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี
4. กระบวนการแก้ปัญหาใช้ทักษะการแก้ปัญหาผสมผสานกับวิธีการทางวิศวกรรม (ซึ่งหมายถึงมีการลงมือปฏิบัติและได้ชิ้นงาน)
เพื่อเป็นแนวทางของครูในการดำเนินการ คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรสะเต็มในสถานศึกษา ซึ่งมีผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นประธานกรรมการ มีรองผู้อำนวยการ สสวท. เป็นรองประธานกรรมการ มีพนักงานของ สสวท. และ เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นกรรมการ ได้เสนอแนวทางจัด “กิจกรรมสะเต็ม” ไว้ 6 ขั้นตอน คือ
ขั้นที่ 1 – ระบุปัญหา
ขั้นที่ 2 –รวบรวมข้อมูลและแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับปัญหา
ขั้นที่ 3 –ออกแบบวิธีการแก้ปัญหา
ขั้นที่ 4 -วางแผนและดำเนินการแก้ปัญหา
ขั้นที่ 5 – ทดสอบ ประเมินผล และปรับปรุงแก้ไขวิธีการแก้ปัญหา หรือชิ้นงาน
ขั้นที่ 6 -นำเสนอวิธีการแก้ปัญหา ผลการแก้ปัญหาหรือ ชิ้นงาน
คำถาม : สอนวิทยาศาสตร์ แล้วยกตัวอย่างเทคโนโลยี ที่สร้างจากองค์ความรู้ทางวิทย์ คณิต ถือว่าได้จัดการศึกษา “สะเต็มศึกษา” หรือไม่?
ตอบ : ไม่ใช่ / เป็นการสอนวิทยาศาสตร์แล้วยกตัวอย่างเทคโนโลยี ไม่ใช่การลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตจริง
คำถาม : ครูวิทยาศาสตร์บูรณาการเนื้อหาวิทยาศาสตร์ กับ คณิตศาสตร์ แล้วนำมาสอน ถือว่าได้จัดการศึกษา “สะเต็มศึกษา” หรือไม่?
ตอบ : ไม่ใช่ / เป็นการสอนแบบบูรณาการเนื้อหา นักเรียนไม่ได้ลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตจริง
คำถาม : ครูวิทยาศาสตร์ กับ ครูคณิตศาสตร์ มาคุยกันแล้วสอนร่วมกันในเนื้อหาที่สอดคล้องกัน ถือว่าได้จัดการศึกษา “สะเต็มศึกษา” หรือไม่?
ตอบ : ไม่ใช่ / เป็นการสอนแบบเป็นทีม นักเรียนไม่ได้ลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตจริง
คำถาม : ครูวิทยาศาสตร์ ตั้งเป้าหมายว่าจะให้นักเรียนมีองค์ความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วจัดกิจกรรมให้นักเรียนปฏิบัติจาสุดท้ายนักเรียนมีความรู้ในประเด็นหรือหัวข้อที่ครูต้องการ ถือว่าได้จัดการศึกษา “สะเต็มศึกษา” หรือไม่?
ตอบ : ไม่ใช่ / แม้นักเรียนจะได้ลงมือปฏิบัติ แต่เป็นการปฏิบัติเพื่อให้ได้เนื้อหาความรู้ ไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตจริง
คำถาม : การจัด “กิจกรรมสะเต็ม” ใช้กระบวนการสืบเสาะแบบวิทยาศาสตร์(Inquiry – based learning) ใช่หรือไม่ ?
ตอบ : ไม่ใช่ / จากนิยาม กล่าวไว้ชัดเจนว่า เป็นเรื่องของ “การแก้ปัญหา” และ เป็นการใช้ “กระบวนการทางวิศวกรรม” ซึ่งต้องใช้ Problem solving skills + Engineering process
คำถาม : “ผลลัพธ์ (Product) ของกิจกรรมสะเต็ม” จะต้องเป็นชิ้นงานเสมอไปหรือไม่ ?
ตอบ : ผลลัพธ์ของกิจกรรมสะเต็ม จะต้องเป็น “รูปธรรมที่ผ่านการทดสอบ” อาจเป็น ชิ้นงานที่สร้างขึ้น ชิ้นงานที่ดัดแปลงจากเดิมที่มีอยู่ ชิ้นงานที่เป็นนวัตกรรม หรือ กระบวนการที่ผ่านการทดลองใช้ ก็ได้ เพราะสิ่งที่กล่าวมานั้นเป็นรูปแบบของ “กระบวนการทางวิศวกรรม” ที่ผลลัพธ์สุดท้ายต้องเป็น “รูปธรรมที่ผ่านการทดสอบ”
คำถาม : โครงงานทางวิทยาศาสตร์ เป็น ” กิจกรรมสะเต็ม” หรือไม่ ?
ตอบ : โครงงานทางวิทยาศาสตร์ ที่มีจุดเริ่มต้นจาก ิ”ประเด็นความสงสัย หรือ คำถาม” ไม่ใช่ “กิจกรรมสะเต็ม” เพราะ ในการหาคำตอบของ “ประเด็นความสงสัย หรือ คำถาม” ใช้กระบวนการสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์ (Inquiry – based learning) แต่ “กิจกรรมสะเต็ม” ใช้ ทักษะการแก้ปัญหา + กระบวนการทางวิศวกรรม
ประการสำคัญ ต้องเข้าใจชัดเจนว่า “ประเด็นความสงสงสัย หรือ คำถาม” กับ “ปัญหา” เป็นคนละเรื่องกัน ปัญหา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว และ ต้องแก้ไข หากไม่แก้ไขจะเกิดผลกระทบทางลบ โดยการแก้ปัญหาใช้ Problem solving skills
(ในแวดวงการศึกษา จะพบว่า มีบ่อยมากที่ในกระบวนการสืบเสาะความรู้(Inquiry – based learning) ใช้คำว่า “ปัญหา” คำว่าแทนที่จะใช้ “ประเด็นความสงสัย หรือ คำถาม” ผลที่เกิดขึ้น คือ ทำให้เกิดการสับสน จนแก้ไขไม่ได้ แม้แต่ในแวดวงนักวิจัย ที่เริ่มจากความสงสัย ก็ใช้คำว่า “ปัญหาวิจัย” แทนที่จะใช้คำว่า “คำถามวิจัย”)
คำถาม : โครงงานสิ่งประดิษฐ์ เป็น “กิจกรรมสะเต็ม” หรือไม่ ?
ตอบ : หากสิ่งประดิษฐ์ ที่ต้องการสร้างขึ้น 1) มีที่มาจากปัญหาในชีวิตจริง 2) ใช้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ในการแก้ปัญหา 3) การแก้ปัญหานั้นใช้แนวทางของ “กระบวนการทางวิศวกรรม” ก็เป็น “กิจกรรมสะเต็ม”
คำถาม ที่อยู่ในใจของผู้บริหารโรงเรียน :
คำถาม : สะเต็มศึกษา เป็นภารกิจของครูกลุ่มสาระการ เรียนรู้วิทยาศาสตร์ และ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ หรือเป็นภาระของครูทุกกลุ่มสาระ ?
ตอบ : เป็นการบริหารจัดการของแต่ละโรงเรียน แต่ขอเสนอแนะดังนี้
1. ให้ครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ ยกเว้นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาประจำกลุ่มนักเรียนที่ทำ “กิจกรรมสะเต็ม” มีบทบาทในการชี้นำให้นักเรียนมองเห็นปัญหา และบทบาทในการให้ความช่วยเหลือนักเรียนจนกิจกรรมสำเร็จ
2. ให้ครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาวิชาการนักเรียนที่ทำ “กิจกรรมสะเต็ม” มีบทบาทในการชี้นำให้นักเรียนใช้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และวิธีการทางวิศวกรรมในการแก้ปัญหา ประสานการมีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมาให้ความรู้เพิ่มเติมแก่นักเรียน และบทบาทในการประเมินผลการทำกิจกรรมของนักเรียน
คำถาม : จะบริหารจัดการ สะเต็มศึกษา ในโรงเรียน อย่างไร ?
ตอบ : ผู้บริหารโรงเรียนควรมองการจัดการศึกษา “สะเต็มศึกษา” ในโรงเรียน ใน 3 มิติ คือ
1. มิติด้านเนื้อหา การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ต้องมีเนื้อหาที่ทันสมัย
2. มิติด้านวิธีสอน วิชาวิทยาศาสตร์ ต้องเน้นกระบวนการสืบเสาะความรู้(Inquiry –based learning คณิตศาสตร์ต้องเน้นการนำไปประยุกต์สถานการณ์จริง ในรายวิชาอื่นๆ ต้องสอนให้เกิดการคิดวิเคราะห์ เกิดความคิดสร้างสรรค์ สอนโดยกระบวนการแก้ปัญหา(Problem-based learning) การเรียนแบบร่วมมือ (Collaborative learning)
3. มิติด้านการจัดกิจกรรม ต้องจัดให้นักเรียนทำ “กิจกรรมสะเต็ม” ตามขั้นตอน 6 ขั้น